วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553

รูปแบบของการท่องเที่ยวเพื่อความสนใจ






รูปแบบของการท่องเที่ยวเพื่อความสนใจ

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

คำว่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นศัพท์บัญญัติที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นำมาใช้อย่างเป็นทางการใน พ.ศ. ๒๕๔๑ โดยให้มีความหมายตรงกับคำว่า Ecotourism ในภาษาอังกฤษ ศัพท์บัญญัตินี้ได้รับความเห็นชอบจากราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบัญญัติศัพท์แล้ว
Ecotourism เป็นคำที่เกิดใหม่ในวงการ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยนำคำ ๒ คำมารวมกัน ได้แก่ eco และ tourism คำว่า eco แปลตามรูปศัพท์ว่า บ้านหรือที่อยู่อาศัย ส่วน tourism แปลว่า การท่องเที่ยว ecotourism จึงแปลว่า การท่องเที่ยวเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย หมายความถึง การท่องเที่ยวที่เน้นในด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์
ส่วนคำว่า นิเวศ ซึ่งเป็นคำภาษาสันสกฤตที่นำมาใช้ในภาษาไทย ก็แปลว่า บ้านหรือที่อยู่อาศัยเช่นกัน (ดูพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) ฉะนั้น การท่องเที่ยว เชิงนิเวศจึงเป็นศัพท์บัญญัติที่มีความหมายตรงกับคำในภาษาอังกฤษอย่างเหมาะสม
นอกจากคำว่า ecotourism แล้ว ยังมีคำอื่นๆที่มีความหมายใกล้เคียงหรือเกี่ยวข้อง กันอีกหลายคำ ได้แก่ green tourism แปลว่า การท่องเที่ยวสีเขียว หมายถึง การท่องเที่ยวสถานที่ทางธรรมชาติ โดยสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ biotourism แปลว่า การท่องเที่ยวเชิงชีวภาพ ซึ่งหมายถึง การท่องเที่ยวที่เน้นการศึกษาสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ และ agrotourism แปลว่า การท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นการท่องเที่ยวที่เน้นในด้านเกษตรกรรม เพื่อให้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของพืชผลไร่นา และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร

การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม

การท่องเที่ยวนับเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้นำเอาวัฒนธรรมมาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันและยุโรป ที่ต่างสนใจที่จะเรียนรู้วัฒนธรรม มรดกทางประวัติศาสตร์ เยี่ยมชมงานสถาปัตยกรรม และสัมผัสวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในประเทศนั้น โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียและแอฟริกา รวมถึงซื้อของที่ระลึกที่เป็นงานหัตถกรรมละงานฝีมือที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนในประเทศนั้น การท่องเที่ยวในลักษณะดังกล่าวเราเรียกว่า การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

การท่องเที่ยวแบบไหนถึงจัดเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
หลายคนอาจจะสงสัยว่า การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมควรจะครอบคลุมถึงเรื่องอะไรบ้าง บุญเลิศ จิตตั้งวัฒนา ( 2548) ได้อธิบายว่าการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมประกอบด้วย
1. ประวัติศาสตร์และร่องรอยทางประวัติศาสตร์
2. โบราณคดีและพิพิธภัณฑ์
3. งานสถาปัตยกรรมเก่าแก่ดั้งเดิม
4. ศิลปะ หัตถกรรม ประติมากรรม ภาพวาด รูปปั้นและแกะสลัก
5. ศาสนารวมถึงพิธีกรรมต่างๆทางศาสนา
6. ดนตรี การแสดงละคร ภาพยนตร์
7. ภาษาและวรรณกรรม
8. วิถีชีวิต เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย อาหาร
9. ประเพณี วัฒนธรรมพื้นบ้าน เทศกาลต่างๆ
10. ลักษณะงานและเทคโนโลยี ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำมาใช้เฉพาะท้องถิ่น
การท่องเที่ยวเพื่อการศึกษา
การท่องเที่ยวเพื่อการศึกษา หมายถึงบุคคลที่เดินทางไปศึกษาหรือทำวิจัยในด้านสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา ซึ่งพักอาศัยอยู่ในสถานที่ศึกษานั้น ๆ เป็นเวลานาน ซึ่งในช่วงพักหรือหยุดก็จะกลายเป็นนักท่องเที่ยวไปโดยปริยาย
การท่องเที่ยวเชิงชาติพันธ์

ความพยายามของมนุษย์ที่จะแยกแยะความแตกต่างทางวัฒนธรรมมีมานานแล้ว ในระยะแรกๆนั้น มักจะแยกแยะกันตามลักษณะรูปธรรมของวัฒนะรรมที่มองเห็นได้ชัดเจน เช่น ความแตกต่างของภาษาพูดบ้าง เครื่องแต่งกายบ้าง และวิธีการดำรงชีวิตบ้าง แต่หลังจากลัทธิล่าอาณานิคมได้ขยายตัวออกไปทั่วโลก ชาวยุโรปตะวันตกได้เริ่มใช้ อคติทางชาติพันธุ์ (Ethnocentrism)มาเป็นพื้นฐานในการแยกแยะความแตกต่างทางวัฒนธรรมมากขึ้น ด้วยการจัดแบ่งประชากรในโลกออกเป็น เชื้อชาติตามสีผิว (Race) ซึ่งแฝงนัยของลำดับชั้นของความยิ่งใหญ่ไว้ด้วย เพราะมักจะจัดให้ชาวผิวขาวของตนเองนั้นเป็นเชื้อชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ส่วนชาวสีผิวอื่นๆก็จะลดลำดับความสำคัญรองๆลงมา แต่ชาวผิวสีดำจะถูกจัดให้อยู่ในลำดับต่ำที่สุดในระยะต่อๆมา การจัดลำดับเช่นนี้ก็ถูกทำให้เป็นจริงเป็นจังมากขึ้นเรื่อยๆ จนยึดถือกันเสมือนว่าเป็นจริงตามธรรมชาติ โดยไม่มีการตั้งคำถามใดๆทั้งตัวเหยื่อเองและผู้ได้รับประโยชน์จากการจัด ลำดับเช่นนี้ ในที่สุดก็ก่อให้เกิดลัทธินิยมเชื้อชาติตามสีผิวอย่างบ้าคลั่งหรือ ลัทธิเหยียดสีผิว (Racism) ซึ่งเป็นสาเหตุของโศกนาฏกรรมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นมาจนนับ ครั้งไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา นักมานุษยวิทยาคนสำคัญของอเมริกาคือ Franz Boas ได้ค้นพบจากการวิจัยจำนวนมากว่า สายพันธุ์ทางชีววิทยากับวัฒนธรรมและภาษาไม่จำเป็นจะสอดคล้องต้องกันเสมอไป และเสนอให้แยกประเด็นของเชื้อชาติตามสีผิวออกจากภาษาและวัฒนธรรม พร้อมๆกับต่อต้านลัทธิเหยียดสีผิว จนกระทั่งในช่วงทศวรรษที่ 1950 ความคิดของ Franz Boasก็เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในอเมริกา และตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา นักมานุษวิทยาส่วนใหญ่ก็ยืนยันตรงกันว่า การจัดลำดับเชื้อชาติตามสีผิวนั้นเป็นไปไม่ได้ ส่วนลัทธิเหยียดสีผิวนั้นมีอยู่จริง หลังจากปี ค.ศ. 1970 นักมานุษวิทยาจึงเสนอให้หันมาเน้นการศึกษาเกี่ยวกับ ความเป็นชาติพันธุ์ (Ethnicity) เพราะเป็นกระบวนการแสดงความเป็นตัวตนทางวัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชน แทนการจัดลำดับเชื้อชาติตามสีผิว ซึ่งถือเป็นกระบวนการกีดกันทางสังคมพร้อมๆกันนั้นนักมนุษยวิทยาตะวันตกก็เสนอให้เรียกกลุ่มชน ที่แสดงความแตกต่างกันทางวัฒนธรรมว่า กลุ่มชาติพันธุ์(Ethnic Groups) แทน ชนเผ่า (Tribe) ซึ่งแฝงไว้ด้วยแนวความคิดวิวัฒนาการ ที่จัดให้ชนเผ่าเป็นกลุ่มชนบทในสังคมแบบบุพกาลดั้งเดิม ในความหมายที่ล้าหลังและแฝงนัยในเชิงดูถูกดูแคลนไว้ด้วย เพราะเป็นขั้นตอนแรกของวิวัฒนาการของสังคมที่ยังไม่มีรัฐ ก่อนที่จะก้าวไปสู่สังคมรัฐแบบจารีต และสังคมทันสมัยในที่สุด ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า แนวความคิดวิวัฒนการเป็นเพียงการคาดคะเนที่เต็มไปด้วยอคติต่างๆ โดยไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันในเชิงประวัติศาสตร์ได้เสมอไป เช่น ชาวเขาในประเทศไทยมักจะถูกเรียกว่าเป็นชนเผ่า ทั้งๆที่ในประวัติศาสตร์ ชาวเขาบางกลุ่มไม่ว่าจะเป็นชาวอาข่าก็ดี ชาวลีซอก็ดี หรือชาวลาหู่ก็ดี ล้วนสืบทอดวัฒนธรรมเดียวกันกับกลุ่มชนที่เคยปกครองอาณาจักรน่านเจ้าในอดีต มาก่อน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้อาจยังไม่มีข้อยุติ เพราะในภาษาไทย คำว่าชนเผ่ามีนัยแตกต่างจากความหมายชนเผ่าของชาวตะวันตกอยู่บ้าง ตรงที่คนทั่วไปจะใช้กับชนเผ่าไทยด้วย ซึ่งน่าจะแสดงว่า ภาษาทั่วไปใช้คำว่า ชนเผ่า ในความหมายเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในทางวิชาการด้วย ดังนั้นชนเผ่าในภาษาไทยจึงน่าจะมีสองนัย แต่เพื่อหลีกเลี่ยงนัยในเชิงงดูถูกที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้คำว่าชนเผ่า ในงานทางวิชาการจึงควรใช้กลุ่มชาติพันธุ์เมื่อพูดถึงกลุ่มชนที่แตกต่างกัน ทางวัฒนธรรม